ตำราเรียนอักขระล้านนาไทย

อนุสรณ์ครบรอบ ๑๐๐ ปี อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย (พ.ศ. ๒๔๖๓–๒๕๒๓)

“ตำราเรียนอักขระล้านนาไทย” นี้ ผู้แต่งคืออาจารย์สิงฆะ วรรณสัย พิมพ์เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ ซึ่งใช้เครื่องพิมพ์ดีดพิมพ์เนื้อหาคำอธิบายเป็นภาษาไทยบนกระดาษไข และเขียนอักขระตัวเมืองหรืออักษรธรรมล้านนาด้วยลายมือ เป็นตำราที่นักเรียน นักศึกษาใช้เรียนสืบต่อกันมาหลายรุ่น และเว้นช่วงการพิมพ์มากว่า ๔๐ ปีกระทั่งทายาทและบรรดาลูกศิษย์มีความเห็นว่าสมควรจัดทำขึ้นใหม่ โดยที่ยังคงรักษาเนื้อหา คำอธิบายไว้อย่างเดิม แต่ปรับปรุงให้ดีขึ้น

อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย (๒๔๖๓–๒๕๒๓) เกิดที่จังหวัดลำพูน ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปี ศึกษาระดับประถมที่โรงเรียนประตูลี้ และระดับมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดพระธาตุหริภุญไชย จากนั้นได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ ๒๑ ปี เมื่อสำเร็จนักธรรมเอกเปรียญธรรม ๓ ประโยคแล้วก็ได้ไปศึกษาต่อจนสำเร็จด้านเปรียญธรรม ๔ ประโยคที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร

ต่อมา อาจารย์สิงฆะกลับลำพูน สามารถสอบเปรียญธรรม ๕ ประโยคและสอบผ่านประโยคครูประถม เมื่ออายุ ๒๕ ปี ก็ได้ลาสิกขาบท และรับราชการครู จากนั้นได้เลื่อนวิทยฐานะเป็นผู้ตรวจการศึกษาอำเภอ เป็นผู้ช่วยศึกษาธิการ และเป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดสันริมปิง อำเภอเมือง ลำพูน ก่อนจะลาออกเมื่อปี ๒๕๑๓ แต่ก็ยังคงรับเป็นอาจารย์พิเศษให้กับหลายสถาบัน

อาจารย์สิงฆะมีความสนใจในศาสตร์หลายแขนง อาทิ ศึกษาภาษาบาลีด้วยตนเองโดยได้คิดวิธีแปลข้อความภาษาบาลีเป็นภาษาไทยแบบที่ยังคงแบบแผนเดิมไว้ได้ และได้เรียนภาษาอังกฤษกับครูแขกชื่อ มานิคัม เรียนอักษรล้านนาจากผู้รู้ทุกวัยตั้งแต่สามเณรจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ศึกษาภาษาล้านนาโบราณจากวรรณกรรม ศึกษาทำนองเทศน์มหาชาติ ศึกษากวีนิพนธ์ด้วยฉันทลักษณ์แบบภาคกลาง มีความเชี่ยวชาญการแต่งร่ายคำเวนทาน คำเรียกขวัญ ที่มีคำสละสลวย มีความหมาย และเนื้อหาที่แจ่มชัด และมักจะได้รับเชิญให้เป็นผู้เวนทานในโอกาสและพิธีกรรมสำคัญๆทั่วภาคเหนือ

ผลงานของอาจารย์สิงฆะมีอยู่มากมาย อาทิ คำเวนทาน คำเรียกขวัญ คำร่ำสลากย้อม วรรณกรรมคร่าวซอ คร่าวพญาพรหม นิราศต่างๆ เช่น นิราศบ้านโฮ่ง นิราศเดือนเมืองเหนือ นิราศรัก นิราศวังมุย นิราศเหมืองง่า นิราศเชียงราย นิราศเมืองศีลนิราศเมืองลี้ ทั้งยังมีผลงานการปริวรรตอีกเช่น ตำนานพญาเจือง พรหมจักร โครงมังทรารบเชียงใหม่ คร่าวร่ำครูบาศรีวิชัย ตำนานพระเจ้าเลียบโลก ตำนานจามเทวีวงศ์ฯลฯ นอกเหนือจากนี้ อาจารย์สิงฆะยังมีส่วนในการสำรวจ คัดคัมภีร์ใบลานทั่วภาคเหนือ เพื่อถ่ายสำเนาไมโครฟิล์ม อันเป็นการอนุรักษ์เอกสารตัวเขียนที่สำคัญมากไว้ให้เป็นประโยชน์แก่วงการศึกษาภาษาล้านนา และสังคมประวัติศาสตร์ภาคเหนือในทุกวันนี้
ดูข้อมูลเพิ่มเติม
นักเขียน สิงฆะ วรรณสัย
สำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์ซิลค์เวอร์ม
จำนวนหน้า 224
เนื้อในพิมพ์ ขาวดำ
กว้าง 210
สูง 300
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง
คุณกำลังวิจารณ์:ตำราเรียนอักขระล้านนาไทย
คะแนนของคุณ
Back to Top