๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๒

ประกอบไปด้วยเอกสารสำคัญ 5 เรื่อง คือ งานวิจัยเรื่อง “บางกอกรีคอร์เดอร์ : หนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทย” เป็นการศึกษาหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของไทยในแง่มุมต่างๆ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม การรับวัฒนธรรมและวิทยาการจากตะวันตก รวมทั้งประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาของชนชั้นนำสยามในขณะนั้น ด้วยบางกอกรีคอร์เดอร์ เป็นหนังสือพิมพ์ที่ออกเผยแพร่ทั้งก่อนและหลังการทำสนธิสัญญาเบาริง ทำให้สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมของสยามโดยเฉพาะอย่างยิ่งกรุงเทพมหานครผ่านเอกสารฉบับดังกล่าวด้วย เรื่องที่สอง คือ “ประกาศพระราชบัญญัติพระสงฆ์สามเณรแลศิษย์วัด ณ วันจันทร์ เดือน 6 ปีมะแมเอกศก และประกาศว่าด้วยทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ปีมะแม : พระราโชบายรัชกาลที่ 4 เกี่ยวกับการกวดขันพระวินัยสงฆ์” สะท้อนให้เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพยายามเป็นอย่างยิ่งที่จะดูแลการพระพุทธศาสนาในราชอาณาจักรให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โดยเน้นไปที่การปฏิบัติตนของภิกษุและฆราวาสที่อยู่ภายในวัด นอกจากนี้ สังคมยังมีหน้าที่ที่จะตรวจตราดูแลสถาบันสงฆ์ด้วย ทว่าปัญหาเรื่องสถาบันสงฆ์นี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่คงอยู่แม้ในปัจจุบัน เรื่องที่สาม คือ “สนธิสัญญาเบอร์นีและสนธิสัญญาเบาริงต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจและสังคมไทย” โดยศึกษาเอกสารทั้งสองฉบับนี้ในปัจจัยในการลงนาม การเจรจาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อสังคมสยาม โดยที่สนธิสัญญาเบอร์นีนั้นมีผลกระทบโดยตรงต่อการเมืองในคาบสมุทรมลายู ที่เป็นประเทศราชของสยาม ในขณะที่สนธิสัญญาเบาริงนั้นส่งผลอย่างมากต่อการเมือง เศรษฐกิจและการศาลของสยาม จนเรียกได้ว่า การทำสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย “จดหมายเหตุเจมส์ โลว์ในฐานะหลักฐานชั้นต้นในการศึกษาประวัติศาสตร์หัวเมืองปักษ์ใต้” เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษประจำปีนังผู้นี้เขียนขึ้น เมื่อครั้งเดินทางมายังนครศรีธรรมราช พ.ศ.2363 สะท้อนนโยบายของอังกฤษต่อหัวเมืองในคาบสมุทรมลายูในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ จดหมายเหตุเจมส์ โลว์ยังชี้ให้เห็นสภาพบ้านเมือง เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คนในหัวเมืองปักษ์ใต้ได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกด้วย
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง
คุณกำลังวิจารณ์:๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๒
คะแนนของคุณ
Back to Top