๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๐

ประกอบไปด้วยเอกสารสำคัญ 6 เรื่อง เอกสารสองเรื่องแรกคือ “จดหมายเหตุจอร์จ ฟินเลย์สัน” และ “ข่าวสิงคโปร์ ครอนิเคิลส์” เอกสารทั้งสองฉบับนี้มีความสำคัญในฐานะหลักฐานร่วมสมัยที่ไม่มีให้ศึกษาในเอกสารของไทยเอง อย่างน้อยก็ให้ภาพโดยรวมของเมืองหลวงสยามในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ที่ชาวต่างชาติได้เข้ามาพบเห็น แม้ว่าข้อเขียนเหล่านี้มาจากชาวตะวันตกซึ่งถือว่าตนมีอารยธรรมสูงกว่าและเต็มไปด้วยอคติ แต่เราก็สามารถมองเห็นภาพของบางกอกหรือกรุงเทพมหานครซึ่งสื่อถึง “คลองกับคน” ไม่ใช่ “ถนนกับรถ” อย่างในปัจจุบัน เอกสารสองเรื่องต่อมาคือ “จดหมายเหตุอ็องรี มูโอต์” และ “จดหมายเหตุก็องต์ ลูโดวิค เดอ โบวัวร์ กรุงเทพฯ ให้ทัศนะนักเดินทางชาวฝรั่งเศสรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” ที่สะท้อนภาพของสยามเมื่อหนึ่งร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ที่ให้ความกระจ่างทั้งในเชิงมานุษยวิทยาและประวัติเหตุการณ์ซึ่งยืนยัน “ความหลากหลาย” ทางวัฒนธรรม และย้ำเตือนให้เรามองให้เห็นตัวเองในมิติที่แตกต่างโดยอาศัยสายตาของ “คนนอก” เอกสารเรื่องที่ 5 คือ “จดหมายเหตุสยามไสมย (2425-2429) : ภาพสะท้อนสังคมสยามต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” เอกสารฉบับนี้นอกจากจะเป็นต้นแบบของหนังสือพิมพ์ไทยในช่วงแรกๆ และส่งผลต่อการทำหนังสือพิมพ์ในช่วงต่อมาแล้ว ยังเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ร่วมสมัยที่สะท้อนให้เห็นข่าวสาร ปัญหา และการปรับตัวของสยามในช่วงนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งสยามไสมยยังเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ร่วมสมัยของโลกด้วย เอกสารเรื่องสุดท้าย คือ “ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 24 (วันที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2514) เรื่องตั้งนครหลวงกรุงเทพธนบุรี : 204 ปี 'ธนบุรีศรีมหาสมุทร'” เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นของการปกครองกรุงเทพมหานคร ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการแก้ไขความเหลื่อมล้ำของพื้นที่ทางฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ให้มีความทัดเทียมกันในฐานะเมืองหลวงของประเทศไทย และเปรียบเสมือนก้าวแรกในการสิ้นสุดตัวตนของความเป็นธนบุรี ที่มีประวัติความเป็นมา วัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มคนดั้งเดิมที่สืบเนื่องมาตั้งแต่สมัยอยุธยา จากบางกอกเมืองท่าด่านภาษี ป้อมปราการ แหล่งเกษตรกรรม และแหล่งกำลังคนที่สำคัญของกรุงศรีอยุธยา สู่การเป็นราชธานีของราชอาณาจักรใน พ.ศ.2310 และเป็นพื้นที่ที่มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องในสมัยรัตนโกสินทร์ จนกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของกรุงเทพมหานครใน พ.ศ.2514 รวมระยะเวลายาวนานถึง 204 ปี
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง
คุณกำลังวิจารณ์:๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๒๐
คะแนนของคุณ
Back to Top