๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๑๒

เล่มนี้ประกอบด้วยเอกสารสำคัญ 6 เรื่อง ดังนี้ เรื่องแรก คือ “จารึกพระเจ้ามเหนทรวรมัน : ภาพสะท้อนประวัติศาสตร์อีสานใต้สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 7 (มรดกความทรงจำแห่งจังหวัดอุบลราชธานี)” นับเป็นหลักฐานร่วมสมัยที่แสดงให้เห็นการแผ่อิทธิพลทางการเมืองของอาณาจักรเขมรโบราณก่อนเมืองพระนครภายใต้รัชกาลพระเจ้ามเหนทรวรมัน เข้ามายังลุ่มแม่น้ำมูล ลุ่มน้ำชี ลำน้ำเสียวและขึ้นไปยังจังหวัดสระแก้วของประเทศไทย ซึ่งรูปแบบตัวอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึก คือ ภาษาสันสกฤต อักษรปัลลวะ ซึ่งมักใช้กล่าวถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับกษัตริย์และเทพเจ้าเท่านั้น เรื่องที่สอง คือ “ธนัญชัยบัณฑิตชาดก : หนังสือบำรุงปัญญาและส่งเสริมจริยธรรมของชาวสยาม” เป็นหนังสือที่มีคุณค่าแสดงภูมิปัญญา บำรุงปัญญาและส่งเสริมจริยธรรมของคนไทยทุกระดับชั้นในทุกสมัยได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นวรรณกรรมชาดกนอกนิบาตภาษาบาลี ที่แต่งขึ้นเพื่อมุ่งนำเสนอประโยชน์ทางโลกและทางธรรม เดิมเรียกว่าโลกนัยชาดก โดยผู้แต่งได้นำโครงเรื่องจากมหาอุมังคชาดกมาเป็นแนวเรื่องและนำวรรณกรรมนิติศาสตร์ที่แต่งในพม่าเป็นภาษิตประกอบเรื่องเพื่อวิจารณ์หรือสนับสนุนความคิด เรื่องที่สาม คือ “ปัตตานีในจดหมายเหตุตะวันตก ค.ศ.1617” นำเสนอภาพปัตตานีว่าอาจเป็นนครรัฐเล็กๆ ในสมัยต้นคริสต์ศควรรษที่ 17 ที่ส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองแด่พระเจ้ากรุงสยาม นอกจากนี้ยังกล่าวถึงพัฒนาการทางการเมืองและวัฒนธรรมของปัตตานีผูกพันอยู่กับโลกของคาบสมุทรและกลุ่มเกาะ ซึ่งเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากปัจจัยที่ซับซ้อนจากการขยายอำนาจของอาเจะห์และการคุกคามของโจรสลัดที่ควบคุมไม่ได้ เรื่องที่สี่ คือ นครศรีธรรมราชในจดหมายเหตุแฟร์นาว เมนเดส ปินตู ค.ศ.1543 และปัตตานีและนครศรีธรรมราชในสารานุกรมฝรั่งเศส ค.ศ.1660” นับเป็นข้อมูลที่ช่วยเพิ่มมิติในการมองพัฒนาการของบ้านเมืองในคาบสมุทรมลายูที่เคยเป็นประเทศราชของสยาม และช่วยให้เข้าใจทัศนคติของชาวตะวันตกในการมองวิถีชีวิตของคนในคาบสมุทรไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในกรณีของปัตตานีซึ่งเคยเป็นนครรัฐกึ่งอิสระและมีตัวตนทางการเมืองและวัฒนธรรมที่ชัดเจน เรื่องที่ห้า คือ “พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในการเฉลิมพระชนม์พรรษาคำรบ 60 ปี เมื่อปีชวด ฉศก จุลศักราช 1226 พ.ศ.2407 เรื่อง การที่ทรงร่วมรับน้ำพิพัฒนาสัตยา” เป็นการเรียนรู้เรื่องประวัติความเป็นมา และพัฒนาการของการถือน้ำพระพิพัทสัจจาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งช่วยให้เข้าใจพลังของประวัติศาสตร์ในสังคมไทยร่วมสมัย และภาพของการแสดงความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์โดยสมัครใจของคนจำนวนมาก และเรื่องที่หก “พระราชวิจารณ์เรื่อง หัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก ในพระราชนิพนธ์ของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ”สะท้อนสภาพบ้านเมือง ผู้คน ข้าราชการ ทัศนะวิจารณ์ ตลอดจนการสะท้อนให้เป็นปัญหาที่ปรากฏอยู่ ณ เวลานั้น ด้วยเหตุนี้ จึงนับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวของหัวเมืองปักษ์ใต้ฝั่งตะวันตก หรือมณฑลภูเก็ต ในปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รอบด้านที่สำคัญอีกฉบับหนึ่ง
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง
คุณกำลังวิจารณ์:๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๑๒
คะแนนของคุณ
Back to Top