๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๑๑

เล่มนี้ประกอบด้วยเอกสารสำคัญ 6 เรื่อง เรื่องแรกคือ “พระตำราบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา (1) : มรดกความทรงจำแห่งเมืองพัทลุง” มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการศึกษาประวัติศาสตร์วัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะขั้นตอนในการออกพระตำรา ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษ และประวัติศาสตร์ภาคใต้ของไทย ซึ่งมักจะขาดแคลนเอกสารชั้นต้นร่วมสมัย การที่เอกสารนี้มีอายุย้อนหลังไปถึงสมัยอยุธยาตอนกลาง และยังมีความน่าสนใจในแง่พัฒนาการของภาษาไทยอีกด้วย เรื่องที่สอง “คำให้การลูกเรือสำเภาจีนเกี่ยวกับสยาม ในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 17” นับเป็นเอกสารที่มีคุณค่า ที่ให้ภาพหรือข้อมูลร่วมสมัยที่บางเรื่องไม่ปรากฏในเอกสารอื่น ในส่วนที่เกี่ยวกับสยาม ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับอยุธยา ปัตตานี นครศรีธรรมราช และสงขลา ในช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 ถึงราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่อนข้างขาดแคลนเอกสารร่วมสมัยของไทย จึงนับเป็นเอกสารร่วมสมัยที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งที่ผู้สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับอยุธยาศึกษาหรือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหัวเมืองปักษ์ใต้พึงอ่านและศึกษา เรื่องที่สามและสี่ เรื่อง “พระราชกำหนดเก่าฉบับที่ 11 (กฎหมายโจรสามเส้น 15 วา) ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน และกฎหมายโจรห้าเส้น จุลศักราช 1199 ว่าด้วยการรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน” ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายทั้งสองฉบับแสดงให้เห็นว่ารัฐให้ความสำคัญแก่ความสงบเรียบร้อยของชุมชนเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับออกข้อกำหนดต่างๆ มาบังคับเจ้าพนักงานรัฐที่รับผิดชอบด้วยเช่นเดียวกับประชาชนในชุมชน ขณะเดียวกันกฎหมายทั้งสองฉบับยังไม่ได้เป็นแค่กฎหมายรักษาความสงบเรียบร้อยของชุมชน แต่เป็นกฏหมายที่ต้องการปลูกฝังจริยธรรมและศีลธรรมอันดีงามในระดับครอบครัวด้วย เรื่องที่ห้า คือ “จารึกสำโรง : มรดกความทรงจำเมืองสงขลา” นับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่บ่งบอกเรื่องราวของเมืองสงขลาบ่อยางในยุคของการสร้างบ้านเมืองในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ไม่ว่าจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม ขณะเดียวกันยังสะท้อนภาพการเมืองภายในของกลุ่มชนชั้นนำตระกูล ณ สงขลา ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ปกครองเมืองสงขลามาตั้งแต่สมัยธนบุรีอีกด้วย และเรื่องที่หก “ภาพสะท้อนหัวเมืองปักษ์ใต้และแหลมมลายูในพระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.ศ.109 (พ.ศ.2433) สะท้อนภาพของหัวเมืองปักษ์ใต้และมลายู รวมถึงแบบอย่างความเจริญตาม “อย่างฝรั่ง” และ “อย่างผู้ดี” ตามสายพระเนตรของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาบ้านเมืองในเวลาต่อมา ขณะเดียวกันยังแสดงให้เห็นถึงพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายในพระราชอาณาเขตของ “รัฐชาติ” สยามที่มีต่อหัวเมืองด้วย
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง
คุณกำลังวิจารณ์:๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๑๑
คะแนนของคุณ
Back to Top