๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๙

นำเอกสารสำคัญประเภทวรรณกรรมสองเรื่องมาพิมพ์รักษาต้นฉบับไว้ ทำการศึกษาวิเคราะห์ในฐานะเอกสารประเภท “บำรุงปัญญา” เรื่องแรกคือ “นิทานสิบสองเหลี่ยม : วรรณกรรมภูมิปัญญาไทยในบริบทความสัมพันธ์ไทย-อิหร่าน” ชื่อ “นิทานสิบสองเหลี่ยม” อาจเป็นที่รู้จักน้อยกว่า “นิทานอิหร่านราชธรรม” ซึ่งเป็นชื่อใหม่ที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเรียก เพื่อให้เข้าใจได้ทันทีว่า อยู่ในหมวด “ราชธรรม” หรือวรรณกรรมคำสอน ในที่นี้ได้ใช้ชื่อที่สื่อความหมายได้ดีกว่าถึงที่มาของเอกสารและนัยทางวัฒนธรรม ในการศึกษาประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาไทย เรามักนึกถึงอิทธิพลของลัทธิพราหมณ์และพุทธศาสนาเป็นใหญ่ ซึ่งเป็นรากฐานของวัฒนธรรมชั้นสูง จนลืมไปว่า แท้จริงนั้นสังคมไทยเป็นสังคมที่เอื้อต่อการประสมประสานทางวัฒนธรรมจากหลายแหล่งอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องภาษาซึ่งได้อิทธิพลจีน ทมิฬ เขมร ลังกา ชวา มลายูและเปอร์เซีย เป็นต้น ลักษณะพัฒนาการของภูมิปัญญาไทยก็ได้รับอิทธิพลจากหลายแหล่งเช่นกัน ในที่นี้ เราอาจกล่าวถึง “นิทานสิบสองเหลี่ยม” วรรณกรรมคำสอนอันมีที่มาจากอิหร่าน หรือเปอร์เซียโบราณเป็นความพยายามเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากวรรณกรรมต่างชาติต่างภาษา ผลงานวิจัยของอาจารย์สยาม ภัทรานุประวัติ คือความพยายามที่จะอธิบายว่า “นิทานสิบสองเหลี่ยม” เข้ามาสู่สังคมคนชั้นสูงของไทยในบริบทอย่างไร ต้นฉบับเอกสารมีความเป็นมาอย่างไรและไทยได้ปรับเนื้อหาเข้าสู่รสนิยมทางวรรณกรรมแบบไทยอย่างไรบ้าง เรื่องที่สองคือเอกสารซึ่งให้ชื่อว่า “ไตรเพท : ความรู้เรื่องวรรณคดีพราหมณ์ของคนไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น” งานวรรณกรรมขนาดสั้นนี้ แม้แต่นักวิชาการด้านวรรณกรรมเองก็อาจได้ยินแต่ชื่อ อาจารย์สยาม ภัทรานุประวัติได้แสดงให้เห็นว่า ไตรเพทเป็นงานวรรณกรรมที่ประสมประสานความคิดแบบพุทธ-พราหมณ์ ซึ่งพยายามนำไปศึกษาเปรียบเทียบหรือเชื่อมโยงไปถึงวรรณกรรมไทยอื่นๆ ได้ในหลายประเด็น
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง
คุณกำลังวิจารณ์:๑๐๐ เอกสารสำคัญ : สรรพสาระประวัติศาสตร์ไทย ลำดับที่ ๙
คะแนนของคุณ
Back to Top