Back to Top
โบราณคดีเครื่องถ้วยในสยาม แหล่งเตาล้านนาและสุพรรณบุรี
เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยชามเป็นทั้งภูมิปัญญาและศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเครื่องยืนยันความสามารถของมนุษย์ในการจัดการระบบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติกายภาพที่มนุษย์อาศัยอยู่ร่วมและระหว่างมนุษย์กับสิ่งเหนือธรรมชาติให้อยู่ในสภาวะที่เอื้อเฟื้อเกื้อกูล มีเมตตาไมตรี ทำนุบำรุงกันและกันให้เจริญอยู่เสมอ เครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยชามในสยามมีลายลักษณ์ตกแต่งประดับประดาที่แสดงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นอย่างชัดเจน ลายลักษณ์บนเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยชามที่ผลิตจากแหล่งเตาในภูมิภาคล้านนา แหล่งเตาในเขตวัฒนธรรมสุโขทัย และแหล่งเตาในภาคกลางของสยามในห้วงพุทธศตวรรษที่ 18-23 มีลักษณะที่สื่อถึงคติธรรมความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติร่วมกัน คือลายลักษณ์ของแผนภูมิจักรวาล ทั้งภูมิจักรวาลและสุริยจักร และภูมิจักรวาลระบบเขาพระสุเมรุ ความรู้ใหม่ของลายลักษณ์ภูมิจักรวาลบนเครื่องปั้นดินเผาและเครื่องถ้วยชามสมัยประวัติศาสตร์ในสยาม ที่นำเสนอในหนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีนักวิชาการท่านใดคิดถึง เขียนถึงมาก่อน หากท่านอ่านและค่อยๆ คิดให้สอดคล้องกับวิธีคิดและคติธรรมความเชื่อที่เคยมีอยู่ในห้วงเวลาดังกล่าว จะเห็นได้ว่าแนวการอธิบายเช่นนี้มีความเป็นไปได้…หรือหากยังไม่เห็นด้วย ก็ขอความกรุณาช่วยกันคิดหาเหตผลมาช่วยกันอธิบายว่า ศิลปินดินปั้นในสมัยโบราณเขาคิดอะไร คิดอย่างไร ทำไมถึงสร้างสรรค์ลายลักษณ์อันวิจิตรไว้มากมายหลากหลาย เป็นเพียงงานศิลปะเพื่อมนุษย์ด้วยกันเอง หรือเป็นวิเศษศิลป์ มงคลศิลป์ หรือจักรวาลศิลป์ ที่มนุษย์สร้างสรรค์เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูลกับสิ่งเหนือธรรมชาติระดับต่างๆ ในสุริยะจักรวาล
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง