Back to Top
ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ : วิวัฒนาการรัฐไทย
อะไรคือแรงผลักดันเบื้องหลังการเกิดรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย และเหตุใดมันจึงเสื่อมลงในเวลาเพียงชั่วศตวรรษ คือคำถามสำคัญของหนังสือเล่มนี้ ผู้เขียนอาศัยทฤษฎีของโบรเดล (Fernand Braudel) และวอลเลอร์สไตน์ (Immanuel Wallerstein) ซึ่งโยงบทบาทของระบบทุนนิยมโลกกับการสร้างรัฐสมัยใหม่ มาใช้วิเคราะห์การเปลี่ยนรูปแบบรัฐไทยจากรัฐศักดินามาเป็นรัฐบูรณาญาสิทธิราชย์ และได้ให้คำอธิบายที่แตกต่างไปจากงานศึกษาอื่น หนังสือเล่มนี้ยังพยายามแสดงให้เห็นว่าในกระบวนการสร้างรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น ได้มีการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่จะทำลายระบอบในตัวมันเองลง โดยเฉพาะการสร้างระบบราชการสมัยใหม่ อันเป็นกลไกที่ทรงประสิทธิภาพในการทำงานของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ หากแต่กลับกลายเป็นกลไกที่กลืนกินตัวเอง สิ่งนี้สะท้อนจากความไม่พอใจภายในระบบราชการที่ก่อตัวและปะทุขึ้น จนนำมาสู่กบฏ ร.ศ.130
นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นถึงรูปแบบของสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในสังคมสมัยใหม่ที่วิวัฒน์ไปอย่างเป็นพลวัต และถึงแม้ว่างานศึกษานี้จะจบลงที่เหตุการณ์กบฏ ร.ศ.130 อันเป็นความพยายามครั้งแรกของการท้าทายระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่เราสามารถอาศัยงานชิ้นนี้เป็นฐานคิดในการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสมัยต่อมา และการกลับมามีอำนาจของขบวนการอนุรักษนิยมในปัจจุบัน ที่สำคัญคือ การค้นคว้าหลักฐานเอกสารชั้นต้นมากมายของผู้เขียนเพื่อตอบคำถามดังกล่าวทำให้หนังสือเล่มนี้มีพลังในคำอธิบาย หนักแน่นด้วยข้อมูลรอบรับ และปลุกให้เรื่องราวประวัติศาสตร์ในสองแผ่นดิน (รัชกาลที่ 5 และ 6) ที่นอนรอในหอจดหมายเหตุมีชีวิตชีวาขึ้นมา วิธีวิทยาในงานศึกษานี้จึงน่าจะเป็นต้นแบบของการทำงานวิชาการไทยศึกษาต่อๆ มาได้
สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน
นักเขียน | กุลลดา เกษบุญชู มี้ด |
---|---|
สำนักพิมพ์ | ฟ้าเดียวกัน |
จำนวนหน้า | 464 |
เนื้อในพิมพ์ | ขาวดำ |
กว้าง | 165 mm. |
สูง | 240 mm. |
ปีที่ออก | 2562 |
เขียนบทวิจารณ์ของคุณเอง